HOT-INFO

146 ม.2 ต.ปราสาททอง,
อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ 32000

ประเพณีเรือมตร๊ด

Written by Super User
Hits: 45
 
ประเพณีเรือมตร๊ด

              การเรือมตร๊ด การแสดงพื้นบ้านของชาวเขมรถิ่นไทย ประเพณีสำคัญสานสัมพันธ์ชุนชนชาวสุรินทร์ เป็นการละเล่นในบุญแคเจตร แต่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นการละเล่นเพื่อให้คนมีส่วนร่วมในการบริจาคทานเพื่อสาธารณประโยชน์  การเรือมตร๊ดบ้านพะเนา หมู่ที่ 3 ตำบลปราสาททอง จัดขึ้นในช่วงเดือน 5 เพื่อขอให้ฝนตกและขอพรให้ชาวบ้านอยู่กันอย่างสงบร่มเย็น โดยจะแห่ขบวนไปตามบ้านและไปรวมตัวกันที่วัด เพื่อทำกิจกรรม เช่น ก่อกองทราย เรือมอันเร การเล่นสะบ้า และการสรงน้ำพระ

องค์ประกอบของขบวนเรือมตร๊ด

  1. ตังเคา คือ อาจารย์ผู้นำพิธี ที่จะเป็นคนรับบริจาค ต้องสามารถสวดมนต์เพื่อทำน้ำมนต์ประพรมอวยพรให้แต่ละบ้านที่ต้อนรับขบวนตร๊ดได้
  2. แม่เพลง คือ ผู้นำร้องเพลงตร๊ด
  3. ลูกคู่ คือ ทุกคนที่ร่วมขบวนเรือมตร๊ด ต้องร้องเพลงตร๊ดตามแม่เพลง
  4. ดนตรี ประกอบด้วยกลอง ฉิ่ง หรือฉาบ หลายแห่งต้องมีปันแซร (เครื่องดนตรี ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อทำให้เกิดเสียง ใช้ไม้ด้ามยาว ยอดทำเป็นไม้ไขว้และผูกโยงเชือก ประดับริ้วกระดาษสี แขวนกระป๋องหรือวัสดุที่ทำให้เกิดเสียง ใช้กระทุ้งนำขบวนเรือมตร๊ด) หรือเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่มีในชุมชน  ปัจจุบันมีเครื่องเสียงใส่รถเข็ญตามเป็นองค์ประกอบเพิ่มเติม
  5. ดอกไม้ธูปเทียน ใส่ขันหรือภาชนะ เพื่อรับบริจาค

ขั้นตอนการเล่น

      เมื่อถึงวันนัดหมาย แม่เพลงและตังเคาจะนัดรวมพลกัน ณ จุดใดจุดหนึ่ง ของหมู่บ้าน เพื่อทำพิธีไหว้ครูเพลงก่อนที่จะเริ่ม ซึ่งการไหว้ครูเพลงจะประกอบด้วยพานดอกไม้ธูปเทียน (ขัน 5) และเหล้า ตังเคาจะเป็นผู้ประกอบพิธีให้ จากนั้นตังเคารดน้ำมนต์และอวยพรให้คณะเรือมตร๊ด แม่เพลงจะร้องเพลงสามรอบก่อนจะนำขบวนออกไปรับบริจาคทานจากแต่ละบ้าน หลังจากนั้นขบวนจะเดินไปตามบ้านต่างๆ เมื่อถึงหน้าบ้านที่พร้อมจะรับคณะตร๊ด แม่เพลงจะเริ่มร้องเพลงเพื่อขอเข้าบ้าน ขอรับบริจาค จากนั้นตังเคาจะเดินเข้าบ้านเพื่อไปรับบริจาคในบริเวณที่เจ้าบ้านจัดไว้ให้

      การจัดเตรียมของเจ้าบ้าน บริเวณนอกบ้าน ต้องตั้งถังน้ำไว้ เพื่อไว้รับคณะเรือมตร๊ด ให้คณะเรือมตร๊ดสามารถรำไปเรื่อยๆ รอบถังน้ำนั้น จนกว่าตังเคาจะทำพิธีรับบริจาคเสร็จ ส่วนภายในบ้าน เตรียมดอกไม้ธูปเทียน น้ำดื่ม น้ำหวาน หรืออื่นๆ ตามศรัทธาเพื่อมอบให้กับคณะเรือมตร๊ดโดยมรตังเคาเป็นผู้รับ

       เมื่อตังเคาสวดมนต์ ประพรมน้ำมนให้พรเจ้าบ้าน เจ้าบ้านจะต้องนำแป้งมาทาให้ตังเคา และออกมาทาแป้งให้คณะเรือมตร๊ดด้านนอก จากนั้นน้ำในถังที่เตรียมไว้ก็จะนำมารดกันสนุกสนานท่ามกลางความร้อนระอุ จากนั้นแม่เพลงก็จะเริ่มร้องเพลงลาเจ้าบ้านพร้อมทั้งอวยชัยให้พรเจ้าบ้านให้นาได้ข้าวทำอะไรให้โชคดี ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบทุกบ้าน สำหรับเจ้าบ้านที่รับคณะเรือมตร๊ดเชื่อกันว่าจะนำพาความอุดมสมบูรณ์และความโชคดีมาให้แก่บ้านนั้นๆ

       เมื่อเข้าสู่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ถือว่าเป็นวันฉลองสงกรานต์ เช้าวันนี้ที่วัดดอมรินราราม คลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากหลายหมู่บ้าน พิธีสงฆ์เริ่มขึ้นจากนั้นทำพิธีฉลองสงกรานต์ และแห่พระสงกรานต์รอบศาลาวัด การแห่นี้ผู้มาร่วมงานแต่ละคนจะทำธง เรียกว่า “การดอดตวง” โดยจะแห่ธงรอบศาลา 3 รอบจากนั้นจะนำธงมาปักรอบกองทรายและหิ้งพิธีที่ทำไว้เพื่อบูชาเพทยา นางฟ้า ผีบรรพบุรุษ พระแม่ธรณี  

        บ่ายวันเดียวกัน คณะเรือมตร๊ดจากแต่ละหมู่บ้านจะนำปัจจัยต่างๆ ที่ได้รับบริจาคมา แห่มารวมกันที่วัด บรรยากาศครื้นเครง จากนั้นจะทำการถวายปัจจัย ภายหลังจะทำพิธีสรงพระ โดยมีพิธีอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะนำมาสรงพระและรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสตามลำดับ ในอดีตนั้นวันฉลองสงกรานต์จะสนุกสนานมากเพราะมีการละเล่นทั้งเรือมอันเร สะบ้า โชง ฯลฯ การละเล่นเหล่านี้เล่นยาวไปจนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 5 ซึงเป็นวันส่งท้ายสงกรานต์ เรียกว่า “แห่โดนจังการน” ซึ่งเชื่อกันว่าบรรพบุรุษทั้งหลายได้ลงมาวันสงกรานต์วันนี้ต้องส่งปู่ย่าตายายกลับภูมิภพ ต้องมีกรทำข้าวปลาอาหารส่งให้บรรพบุรุษอย่างอุดมสมบูรณ์ ในวันนี้มีการละเล่นเรือมอันเร สะบ้า ฯลฯ อย่างสนุกสนานเป็นการส่งท้าย ก่อนจะทำบุญตักบาตรในวันรุ่งขึ้น เป็นอันสิ้นสุดประเพณีบุญเดือน 5 ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลผลิตรอบใหม่