HOT-INFO

146 ม.2 ต.ปราสาททอง,
อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ 32000

ข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไป

Written by Super User
Hits: 22

arrow green14 ประชาสัมพันธ์การสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของโฟลิก เอซิด(วิตามิน B9)

กรดโฟลิก หรือวิตามินบี 9 เป็นสารอาหารที่สำคัญในกระบวนการสร้างสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ ซึ่งสำคัญต่อการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ การปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ โดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) แนะนำให้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ทุกคน ได้รับกรดโฟลิกเสริมวันละ 0.4 - 0.8 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันภาวะพิการทางระบบประสาทจากหลอดประสาทไม่ปิดในเด็กโดยปกติแล้วการพัฒนาของทารกในครรภ์ตอนอายุครรภ์ประมาณ 2 สัปดาห์ จะมีการสร้างหลอดประสาทซึ่งจะพัฒนาไปเป็นสมองและไขสันหลังของทารกในอนาคตกรณีที่ฝ่ายหญิงขาดกรดโฟลิก อาจทำให้การพัฒนาของหลอดประสาทไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดของสมองและไขสันหลัง เช่น ภาวะทารกไม่มีสมอง (anencephaly) ซึ่งไม่สามารถมีชีวิตรอดได้หลังคลอด หรือมีก้อนยื่นที่บริเวณแนวสันหลังซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดหลังคลอด 

โฟลิกเป็นสารอาหารที่มีมากในผักผลไม้สด เช่น

  • ดอกกะหล่ำ
  • ดอกและใบกุยช่าย
  • มะเขือเทศ
  • แตงกวา
  • หน่อไม้ฝรั่ง
  • ส้ม
  • องุ่นเขียว
  • สตรอเบอรี่
  • ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง
  • ตับ

     แต่โฟลิกจะถูกทำลายได้ง่าย เมื่อถูกความร้อนเป็นเวลานานในการปรุงอาหาร ถ้ากินอาหารหรือปรุงอาหารไม่ถูกต้อง อาจทำให้ร่างกายได้รับโฟลิกไม่เพียงพอ โดยในประเทศไทยมีการศึกษาพบว่า สตรีไทยอายุระหว่าง 15 – 45 ปี ร้อยละ 65.5 มีระดับโฟลิกในเลือดต่ำกว่าปริมาณที่เหมาะสม ไม่เพียงแต่การป้องกันความพิการในบุตรเท่านั้น จากการศึกษาในระยะหลังยังพบว่า การรับประทานโฟลิกมีผลดีต่อการมีบุตร อาจช่วยให้มีบุตรง่ายขึ้น ลดภาวะไข่ไม่ตก ภาวะแท้ง รวมถึงพบว่า ช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ในผู้มาทำเด็กหลอดแก้วด้วย

     โดยผลดังกล่าวจะเกิดในกรณีที่ได้รับโฟลิกเสริมในปริมาณที่มากกว่าขนาดที่ป้องกันความพิการในบุตร ในการศึกษากลุ่มหญิงมีบุตรยากที่ทำเด็กหลอดแก้ว พบว่า กลุ่มที่รับประทานโฟลิกมากกว่า 0.8 มิลลิกรัมต่อวัน มีอัตราความสำเร็จของการมีบุตรสูงกว่ากลุ่มที่รับประทานโฟลิกน้อยกว่า 0.4  มิลลิกรัมต่อวัน

      โดยสรุปแล้วแนะนำให้ผู้ที่เตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร รวมถึงผู้มีบุตรยากฝ่ายหญิงรับประทานโฟลิกเสริม เพื่อลดการเกิดความพิการทางระบบประสาทจากหลอดประสาทไม่ปิดในบุตร และเพิ่มภาวะการเจริญพันธุ์ โดยแนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนที่เตรียมพร้อมจะตั้งครรภ์ ควรได้รับโฟลิกอย่างน้อยวันละ 400 ไมโครกรัม

ทำไมคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ต้องทานกรดโฟลิกมากกว่าปกติ?

ในขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการกรดโฟลิกสำหรับลูกน้อย แต่ร่างกายกลับดูดซึมจากอาหารได้น้อยกว่าปกติ! เพื่อให้ร่างกายคุณแม่และทารก…ได้รับกรดโฟลิกที่เพียงพอ คุณแม่จึงต้องมีการเสริมกรดโฟลิกให้เพิ่มขึ้นกว่าปกติ เพื่อความสมบูรณ์ต่อการสร้างตัวอ่อนในครรภ์

ทานช่วงไหน…ได้ผลดีที่สุด!

เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 หลังการปฏิสนธิ หลอดประสาทจะปิดอย่างสมบูรณ์ กว่าคุณแม่จะทราบว่าตั้งครรภ์ก็อาจสายเกินไป เพื่อผลลัพธ์ที่ดี! ควรมีการเสริมกรดโฟลิกตั้งแต่วางแผนมีบุตร หรือก่อนตั้งครรภ์ 1-3 เดือน และทานต่อไปอีก 3 เดือน หลังเริ่มตั้งครรภ์จะดีที่สุด

ถ้าขาดกรดโฟลิก….จะส่งผลต่อทารกอย่างไร?

ผลกระทบที่เกิดจากการขาดกรดโฟลิคคือ ทารกจะเสี่ยงต่อความพิการ โดยในรายที่เป็นมาก..จะเกิดความพิการทางสมอง ระบบประสาทส่วนกลาง  และกะโหลกศีรษะไม่ปิด  หากปล่อยให้ตั้งครรภ์จนคลอด…ทารก จะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน  24  ชั่วโมง!  ในส่วนของประสาทไขสันหลังเองก็เสี่ยงเกิดความพิการได้เหมือนกัน การสร้างเม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือโตไม่เต็มที่ รวมไปถึง..ภาวะสารโฮโมซีสเตอีนสูงกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ ไขมันอุดตันในหลอดเลือดสมอง โคเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
 

Folic Acid

 
 
     วิตามินโฟลิก ลดความเสี่ยงภาวะพิการแต่กำเนิด

   เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ย่อมมีความต้องการให้ลูกที่กำลังจะเกิดมามีความสมบูรณ์ทางร่างกาย ดังนั้นสิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือบำรุงครรภ์ด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญพัฒนาของเซลล์อวัยวะใน         ทารก โดยหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นก็คือสารโฟลิกที่คุณแม่ควรเสริมสร้างเพื่อต้านทานความพิการของทารกแต่กำเนิด

  1. โฟลิก เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์ของมนุษย์ทุกคน
  2. ในทารก โฟลิกมีความสำคัญในการสร้างความเจริญของท่อหลอดประสาทซึ่งเป็นอวัยวะตั้งต้น ที่จะพัฒนาไปเป็นไขสันหลัง สมองและเส้นประสาทตามอวัยวะต่าง ๆ
  3. การเสริมโฟลิกจะช่วยลดความพิการของท่อหลอดประสาทในทารก
  4. การเสริมโฟลิกในคุณแม่ ควรเริ่มสะสมตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์หรือทันทีที่วางแผนมีบุตร
  5. เนื่องจากในทารกจะมีการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 2 สัปดาห์ในครรภ์มารดา ขณะที่คุณแม่บางท่านยังไม่ทันทราบด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ในขณะที่มีอายุครรภ์ 2 สัปดาห์
  6. หากคุณแม่ทานโฟลิกหลังจาก 2 สัปดาห์ไปแล้ว แทบจะไม่มีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงต่อภาวะพิการของทารกเลย
  7. การสร้างเสริมโฟลิกสามารถทำได้จากการรับประทาน ผักใบเขียว ไข่ นม ถั่ว ซึ่งมีโฟลิกรวมอยู่หรือทานได้จากวิตามินที่อยู่ในรูปแบบของยา ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

      คลิกชมคลิปรายการ “โฟลิกจำเป็น สะสมไว้ก่อนตั้งครรภ์ ป้องกันลูกพิการ : พบหมอรามา ช่วง Big Story” ได้ที่นี่

   ข้อมูลจาก

     อ. พญ.อรวิน วัลลิภากร
     สาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นารีเวชวิทยา
     คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
     มหาวิทยาลัยมหิดล